Connect with us

เศรษฐกิจพอเพียง

แนวคิด “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร

เมื่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกน้อมนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย ทำให้ความหมายและรูปแบบการปฏิบัติเริ่มหลากหลายและเบี่ยงเบนไปจากกรอบแนวคิดหลัก วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยและพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานบทความเรื่อง “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและกลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป โดยมีความว่า

“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่งในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียรพยายามมีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”

“เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่จำเป็นต้องต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์หรือสิ่งทันสมัยต่างๆ ทุกคนในสังคมสามารถนำไปใช้ได้ แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการใช้จ่ายอย่างขี้เหนียว การห้ามเป็นหนี้ การยอมรับสภาพ หรือการไม่ขวนขวายทำสิ่งใด ความหมายที่ลึกซึ้งของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การคำนึงถึงความพอประมาณ คือ ให้ทำอะไรด้วยความพอดี ไม่มาก หรือน้อยเกินไป และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดำเนินชีวิตให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท อันจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนการสร้างเสาเข็ม สร้างฐานให้แข็งแรงมั่นคง ไม่ว่าพายุใดๆ เข้ามา หรือจะต่อเติมสร้างเพิ่มในภายหลัง บ้านก็จะยังคงยืนหยัดอยู่ได้

พระบรมราโชวาทเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ความว่า

“…การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้…”

หากพิจารณาพระบรมราโชวาทให้ดีจะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีความเป็นห่วงประเทศชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน เนื่องจากเป็นช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ไม่นานนัก อีกทั้งเป็นช่วงที่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้โตแบบก้าวกระโดด พัฒนาอุตสาหกรรมแทนการนำเข้า ประเทศมีหนี้มากเพราะต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งในการชำระหนี้คืนนั้นก็โดยวิธีส่งออกสินค้าเกษตร จึงทำให้ต้องเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร เป็นผลให้ต้องลดพื้นที่ปลูกป่าและปลูกพืชเศรษฐกิจแทน พระองค์จึงพระราชทานหลักปรัชญานี้ให้คนไทยเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นไม่ก้าวกระโดด อยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท

และในปี พ.ศ. 2517 ปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่งไว้อย่างกระชับชัดเจน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคล ในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ความว่า

“…คนอื่นจะว่าอะไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งสมัยใหม่ แต่เราอยู่พออยู่พอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะทำให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่ง คุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล…”

พระราชดำรัสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเน้นถึง พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ซึ่งกระชับแต่มีความหมายชัดเจน คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเลยทำให้ขาดความสนใจ จนเมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก พนักงานถูกปลดเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทถูกลดค่าลงอย่างมาก ผู้ประกอบการล้มละลายจำนวนมาก ช่วงเวลานั้นเองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่ง ดังพระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2540 ความว่า

“…ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆก็มาบอกว่าล้าสมัย จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…”

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง จนปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเริ่มคลี่คลาย นับว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ช่วยให้พสกนิกรสามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นไปได้ และปัจจุบันแนวคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกน้อมนำมาใช้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวางมากขึ้นทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ดังจะเห็นจากผลลัพธ์ของหลายต่อหลายท่านที่ปฏิบัติตามและพบทางออกของชีวิตที่พึ่งพาตนเองได้ และมีความสุขอย่างแท้จริง

คำนิยาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

มีหลักจำง่ายๆ คือประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ และเงื่อนไข 2 เงื่อนไข ดังนี้

หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ห่วงที่ 1. ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

ห่วงที่ 2. ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ

ห่วงที่ 3. ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ ดังนี้

เงื่อนไข 1. เงื่อนไขความรู้ องค์ประกอบในการทำงานทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความรู้ ซึ่งต้องรู้ลึก รู้กว้าง และสามารถนำวิชาการต่างๆนั้นมาวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เพราะหากไม่มีความรู้ การนำไปปฏิบัติอาจมีปัญหา

เงื่อนไข 2. เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต

เอกสารอ้างอิง

  • เกษม วัฒนชัย. 2548. เอกสารประกอบการปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการศึกษา”. กรุงเทพฯ .
  • ชนัธฌา ศิวโมกษธรรม. 2550. “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”. “บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” สมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย. หน้า 27 – 52.
  • มูลนิธิชัยพัฒนา. ม.ป.ป. เศรษฐกิจพอเพียง. ค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.chaipat.or.th/chaipat/content/porpeing/porpeing.html#porpeing3
  • สำนักข่าวเจ้าพระยา. 2552. เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. ค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.chaoprayanews.com
  • สุภาคย์ อินทองคง. 2549. ทำความเข้าใจกับความคิดเศรษฐกิจพอเพียง. Thai Fund Foundation. ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content2/show.pl?0357

Click to comment

Leave a Reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

บทความใหม่